วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เกษตรจังหวัดเตือนเกษตรกรระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว







เกษตรจังหวัดเตือนเกษตรกรระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในนาข้าว

นายรังสรรค์ กองเงิน เกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวเกษตรกรหลายจังหวัด และพบการระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จำนวน 204 ไร่ เสียหาย จำนวน 84 ไร่ จึงขอประกาศเตือนให้เกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 18,848 ราย พื้นที่ 348,436 ไร่ เฝ้าระวังโดยหมั่นสำรวจแปลงนา หากพบการระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทันที ขณะนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรีได้ประสานงานไปยังศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี และได้รับการสนับสนุนเชื้อราบิวเวอเรีย ซึ่งเป็นสารชีวภัณฑ์ จำนวน 200 ก.ก. เพื่อมอบให้เกษตรกรใช้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรีร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม ออกสำรวจแปลงนาเกษตรกรพบมีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ในพื้นที่ตำบลชำแระและตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จำนวนเกษตรกร 7 ราย พื้นที่ปลูกจำนวน 204 ไร่ พื้นที่เสียหายจำนวน 84 ไร่ และพบว่ามีการระบาดกับข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ที่มีอายุประมาณ 80-100 วัน ซึ่งกำลังอยู่ในระยะตั้งท้องถึงระยะพลับพลึง ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวใบเหลืองแห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวกแห้งตายเป็นหย่อม ๆ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิกมาสู่ต้นข้าว

หากระบาดมากผลผลิตข้าวลดลงถึง 90 % จึงแนะนำว่าเกษตรกรต้องรู้จักระบบนิเวศในนาข้าว เนื่องจากในนาข้าวมีแมลงที่มีประโยชน์มากกว่าแมลงศัตรูธรรมชาติ 5 เท่า ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำ เช่น อิมิดาโคลพลิด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไอโซโปรดาร์ป(มิพชิน) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือการใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 1 ก.ก.ต่อน้ำ 20 ลิตร และใช้ได้ผลดีในสภาพอากาศมีความชื้นสูง โดยฉีดพ่นในเวลาเช้าหรือเย็น การใช้สารสกัดจากสะเดาฉีดพ่นเพื่อยับยั้งการลอกคราบของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ เกษตรกรต้องไม่หว่านข้าวให้แน่นเกินไป ไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่สูงเกินไป การระบายน้ำออกจากแปลงทิ้งไว้ 4 วัน จึงปล่อยน้ำเข้าเพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การใช้แสงไฟล่อ เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ (แสงสีฟ้า) ควรรณรงค์ทำพร้อมกันทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกัน การเว้นระยะการทำนาเพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล การใช้พันธุ์ต้านทาน ได้แก่ สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี90 สุพรรณบุรี60 พิษณุโลก 2 กข 29 กข 31 และ กข 41

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี โทร.032-315023 ,032-315404 ได้ในวันและเวลาราชการ



ภาพ/ สุชาติ รอดบุญพา
ข่าว/ กาญจนา สิมมา
18/11/54

ช่วยสนับสนุน HCTV จะได้มีข่าวอย่างนี้ ให้ชมต่อไป
ติดต่อสนับสนุน โทร 0-3231-0262 , 088-640-8035

ไม่มีความคิดเห็น: