วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เตือนเกษตรกรระวังโรคเมล็ดด่าง







เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี ออกประกาศเตือนเกษตรกรระวังโรคเมล็ดด่าง หวั่นเกษตรกรได้รับความเสียหายจากโรคดังกล่าว

นายอุดร จันทร์เทพ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร เตือนเกษตรกรขณะนี้สภาพอากาศทั่วทุกภาคมีฝนตกร้อยละ 30-80 ของพื้นที่ ลักษณะดังกล่าวเกษตรกรในภาคกลางควรเฝ้าระวัง โรคเมล็ดด่าง เพราะจะมีผลกระทบต่อข้าวบางส่วนที่อยู่ในระยะตั้งท้องใกล้ออกดอก ดังนั้น ควรป้องกันโรคในระยะตั้งท้อง ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา สำหรับเกษตรกรในภาคเหนือควรเฝ้าระวัง โรคไหม้ อีกโรคหนึ่งด้วย ควรควบคุมโรคโดยใช้สารกำจัดแบคทีเรียตามคำแนะนำ

โรคเมล็ดด่าง (Dirty Panicle Disease) เป็นโรคที่พบมากในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการของต้นข้าวที่เป็นโรคเมล็ดด่างมักเกิดขึ้นกับข้าวในระยะออกรวง โดยจะพบแผลเป็นจุดสีน้ำตาลหรือดำที่เมล็ดบนรวงข้าวบางส่วน มีลายสีน้ำตาลดำ และบางพวกมีสีเทาปนชมพู ทั้งนี้เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลายและทำให้เกิดอาการต่างกันไป การเข้าทำลายของเชื้อรามักจะเกิดในช่วงดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม และอาการเมล็ดด่างจะปรากฏเด่นชัดในระยะใกล้เก็บเกี่ยว การแพร่ระบาด เชื้อราสามารถแพร่กระจายไปกับลม ติดไปกับเมล็ด และอาจสามารถแพร่กระจายในยุ้งฉางได้ เกษตรกรสามารถป้องกันกำจัดได้ดังนี้

ควรเฝ้าระวังการเกิดโรค ถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้เช่น สุพรรณบุรี 6 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 และข้าวเจ้าหอมคลองหลวง เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก ควรคัดเลือกจากแปลงที่ไม่เป็นโรค คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม หรือแมนโคเซ็บ ในอัตรา 3 กรัม/เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวงเมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธง และโรคกาบใบเน่า ถ้ามีฝนตกชุก ควรวาง มาตรการป้องกัน โดยพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โปรพิโคนาซล โปรพิโคนาโซล+โพคลอราซล คาร์เบนดาซิม+อีพ๊อกซี่โคนาโซล ฟลูซิลาซอล ทีบูโคนาโซล โพคลอราซล+คาร์เบนดาซิม แมนโคเซ็บ+ไทโอฟาเนตเมทิล ตามอัตราที่ระบุ


ภาพ/ข่าว กาญจนา สิมมา
25/08/54

ช่วยสนับสนุน HCTV จะได้มีข่าวอย่างนี้ ให้ชมต่อไป
ติดต่อสนับสนุน โทร 0-3231-0262 , 088-640-8035


ไม่มีความคิดเห็น: