วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

DSI นำทีมหารือแก้ไขปัญหานายทุนฮุบพื้นที่ราชพัสดุ 6,000 ไร่


อธิบดี DSI นำทีมประชุมหารือกับส่วนราชการจังหวัดราชบุรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหานายทุนฮุบพื้นที่ราชพัสดุ 6,000 ไร่ หลัง กคพ. มีมติรับเป็นคดีพิเศษ

ที่ห้องประชุมเล็กชั้น 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยพันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีกำหนดหารือร่วมกับ นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กรณีการบุกรุกที่ดิน ที่ราชพัสดุ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้ากรมการทหารช่าง อัยการจังหวัดราชบุรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรราชบุรี นายอำเภอสวนผึ้ง ผู้แทนจากสำนักงาน ธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี และกอ.รมน.จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีประเด็นหารือสำคัญประกอบด้วย
- แนวทางในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินที่ราชพัสดุในอำเภอสวนผึ้ง
- ปัญหาการใช้ผู้อพยพในศูนย์อพยพ เป็นกองกำลังในการบุกแผ้วถาง และปลูกพืชเศรษฐกิจให้กลับกลุ่มนายทุน
- การปฏิบัติงานของคณะทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องมีการสนธิกำลังและบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกมีบันทึกหนังสือถึงแก่กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ ขอให้เสนอคดีความผิดเรื่องการบุกรุกพื้นที่ราชพัสดุ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้คณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งล่าสุดจากการประชุม คกพ. เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2552 ที่ประชุมมีมติให้คดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ที่โดยให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ร่วม
การบุกรุกที่ดินนายทุนรายใหญ่กรณีนี้ มีอาณาบริเวณประมาณ 6,000 ไร่ มูลค่าที่ดินประมาณ 3,600 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่และสิ่งสำคัญ คือพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคงจึงจำเป็นต้องให้เต้าหน้าที่รัฐดูแลเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรมการทหารช้างจึงร้องทุกข์มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ
ที่ดินราชพัสดุ อำเภอสวนผึ้งราชบุรี เป็นที่ดินสงวนหวงห้ามตามพระรากฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องถิ่น อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอวังขนาย อำเภอบ้านทวนและอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2481 ต่อมา พ.ศ. 2506 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยมอบอำนาจในการดูแลรักษาพื้นที่หวงห้ามให้กองทัพบก กองทัพบกจึงได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้หน่วยงานรองในการบริหารจัดการและดุแลพื้นที่ และได้ขึ้นทะเบียนต่อกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นแปลงหมายเลขทะเบียน รบ.553 เนื้อที่ 500,000 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศประมาณ 75-80% เป็นภูเขาสูงซ้อนกัน มีแหล่งต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ติดต่อชายแดนพม่าระยะทางประมาณ 50-60 กิโลเมตร
ทั้งนี้ทหารซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการฝึกภาคสนาม จึงได้รับผลกระทบทำให้ไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบว่าการ การบุกรุกพื้นที่รายใหญ่เป็นการบุกรุกของนายทุนนอกพื้นที่ มีการก่อสร้าง แผ้วถางดิน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และปลูกยางพารามาทดแทน โดยเชื่อว่าน่าจะมีการจ้างแรงงานต่างด้าวราคาถูกจากศูนย์อพยพ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จึงพบว่ามีการบุกรุกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างประกอบกับมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลส่วนเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนในการเข้ายึดพื้นที่ เช่น เป็นผู้รับจ้างในการปรับแต่ง ไถปรับหน้าดินออกขาย บริเวณที่เป็นพื้นที่ราบแล้วยังครอบคลุมถึงพื้นที่เชิงเขาตลอดไปถึงยอดเขาด้วย

ภาพ/ข่าว ธนชาติ
วันที่ 23 – 4 - 52

ไม่มีความคิดเห็น: