วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จ.ราชบุรี ส่งผู้แทนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จ.พัทลุง


เมื่อวันที่ 4 ถึง 5 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มอบหมายให้ นายไกรสร กลับทวี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี เป็นผู้แทน นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 และเขต 2 ผู้แทนสถาบันอาชีวศึกษาราชบุรี ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม และผู้แทนสื่อมวลชนจังหวัดราชบุรี จำนวน 27 คน ไปศึกษาดูงาน ณ จังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ประจำปี 2552 ของจังหวัดพัทลุง


เมื่อคณะเดินทางถึง นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับ และพาชม ทะเลน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยมี นายสมชาย สุวรรณชาติ หัวหน้าสำนักงานฯ เป็นผู้นำชม


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีพื้นที่รับผิดชอบบางส่วนของ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา มีพื้นที่ประมาณ 457 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ส่วนพื้นที่ที่เป็นน้ำ ที่เรียกว่า ทะเลน้อย มีความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาว 6 กิโลเมตร เฉลี่ยพื้นที่โดยประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร มีพืชน้ำปกคลุม เช่น ผักตบชวา กระจูดหนู ผักกระเฉด กง บัวต่างๆ และพืชน้ำ มีความลึกโดยเฉลี่ย 1.25 เมตร กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว คือ กิจกรรมนั่งเรือหางยาวชมทะเลน้อย ค่าเรือเหมาจ่ายลำละ 400 บาท นั่งได้ไม่เกิน 8 คน ใช้เวลาชมประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ มีจุดที่น่าสนใจ คือ พระตำหนักทะเลน้อย ทะเลบัวยามเช้า ฝูงนกนานาชนิด แหล่งทำรังวางไข่ของนกน้ำ จุดชมธรรมชาติบริเวณศาลานางเรียม ฝูงควายไล่ทุ่ง และถนนยกระดับสายไสกลิ้ง-หัวป่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะพักแรม สามารถติดต่อห้องพักได้ที่สำนักเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้โดยตรง


ต่อจากนั้น คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชม หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หมู่ที่ 12 บ้านลำในใต้ ตำบลบ้านนา อ.ศรีนครินทร์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดยมี นายอำเภอศรีนครินทร์ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป หมู่บ้านแห่งนี้ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นหมู่บ้านที่ไม่มีรั้ว เนื่องจากทุกคนอยู่อาศัยกันอย่างเอื้ออาทร อย่างญาติพี่น้อง ไม่มีโจรและขโมย ปัจจุบันมี นายสัญญา มากวงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในหมู่บ้านประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ กิจกรรมภายในหมู่บ้านมีจำนวนมาก อาทิ ศูนย์เรียนรู้เชื่อมโยงกิจกรรมของเยาวชนพ่อบ้านแม่บ้าน กิจกรรม To be number one กิจกรรมขยะรีไซเคิล กิจกรรมส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว โครงการสายใยรักในครอบครัว โครงการปลูกผักกูด และเลี้ยงปลาดุกในครัวเรือน ภายในเขตหมู่บ้านยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชมอีก ได้แก่ ถ้ำพระพุทธโคดม และโครงการที่กำลังจะดำเนินการต่อไปในด้านวิสาหกิจชุมชน คือ การจัดทำโฮมสเตย์ ภายในหมู่บ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาวิถีชีวิต และความเป็นอยู่


หลังจากนั้น คณะฯ เดินทางต่อไปยัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปแนวทางการจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษา ประชาชนของจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวพัทลุง เป็นมนต์ขลังที่ชาวพัทลุง มีความรักและความผูกพันต่อการแข่งขันรายการนี้มาอย่างยาวนาน


การแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษาประชาชน ของจังหวัดพัทลุง เริ่มการแข่งขัน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 ซึ่งเริ่มจากการแข่งขันที่สนามเล็กๆ ในโรงเรียนพัทลุง การแข่งขันดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2538 กรมพลศึกษาได้จัดสรรงบประมาณให้เพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ให้ได้มาตรฐาน และในปี พ.ศ.2552 นี้ จะเป็นการจัดการแข่งขันปีที่ 60 การจัดมหกรรมกรีฑา ในครั้งนี้ จึงใช้ชื่อเกมว่า “60 ปี กรีฑาพัทลุง”


การจัดการแข่งขันกีฬา-กรีฑา นักเรียน นักศึกษาประชาชน ของจังหวัดพัทลุง จะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งชาวพัทลุงทุกคนจะจำได้ว่า ในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันพิธีเปิด พี่น้องชาวพัทลุงไม่ว่าจะอยู่แห่งหน ตำบลใดก็ตาม จะต้องมาพบกันให้ได้ เพราะวันนี้เป็นวันชุมนุมใหญ่ในการแข่งขันกีฬา-กรีฑา ของบุตรหลานชาวพัทลุง ภาพของผู้คนจำนวนมากที่ยืนเบียดเสียดกัน ริมสองข้างถนน ตั้งแต่หน้าโรงเรียนพัทลุง จนถึงสนามกีฬากลาง เพื่อคอยเป็นกำลังใจและคอยชมขบวนพาเหรดของบุตรหลานตนเองนั้น เป็นภาพที่เชื่อว่าทุกคนเห็นแล้วจะรู้สึกปิติยินดี ในความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวพัทลุงทุกคน ขบวนพาเหรดของแต่ละโรงเรียน ถูกออกแบบตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตร นำหน้าขบวนด้วยวงโยธวาทิตที่สง่างาม ขบวนพาเหรดทั้งหมดมีความยาวกว่า 5 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินเข้าสู่สนามกีฬากลาง ตั้งแต่ประมาณ 14.00 นาฬิกา จนกระทั่งถึง 18.00 นาฬิกาใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง และในปีนี้ทางจังหวัดพัทลุง ยังได้จัดให้มีงานคู่ขนานกับงานมหกรรมกีฬา-กรีฑา นักเรียนฯ ในครั้งนี้ด้วย คือ งานเปิดโลกการศึกษา สร้างปัญญาเด็กพัทลุง ณ ศูนย์ประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนชาวพัทลุง ได้แสดงออกถึงความสามารถในด้านต่างๆ อีกด้วย


ในเช้าวันที่สองของการเดินทาง จังหวัดพัทลุงได้พาคณะฯ เข้าไปนมัสการพระอาจารย์เกจิแห่ง วัดเขาอ้อ ซึ่งวัดแห่งนี้ ตั้งมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ได้รับสมญานามว่า ตักศิลาไสยเวทแห่งสยาม วัดแห่งนี้เป็นที่อบรมสั่งสอนศาสตร์และวิชาแขนงต่างๆ ให้แก่พระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมาย อาทิ พระอาจารย์คอน รัฐเคดาร์ มาเลเซีย พระอาจารย์ปาน บางนมโค พระอาจารย์เอียด พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา พระอาจารย์เจ๊ก เขาแดง พระอาจารย์เปรม วัดวิหารสูง พระอาจารย์ปาล วัดเขาอ้อ ตลอดจนถึงปูชนียบุคคลสายฆราวาส ที่มีชื่อเสียง ก็คือ ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช มือปราบหนังเหนียวจอมขมังเวทย์แห่งกรมตำรวจ ในปัจจุบัน วัดนี้มี หลวงพ่อกลั่น เป็นเจ้าอาวาส


ต่อจากนั้น คณะฯ ได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชม หาดแสนสุขลำปำ ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่ติดกับทะเลสาบลำปำ ซึ่งเป็นทะเลน้ำกร่อย หาดแห่งนี้ที่มีทิวสนร่มรื่น ถูกตกแต่งให้เป็นสวนสาธารณะใช้ประโยชน์ในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ของจังหวัดพัทลุง มีจุดสังเกตที่สำคัญคือ วงเวียนลำปำ ที่มีรูปปั้นฝูงปลาลำปำ ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ กับรูปปั้นปลาโลมาอิรวดี ซึ่งเคยพบเห็นในทะเลแห่งนี้เช่นกัน หาดแสนสุขลำปำแห่งนี้มีหลักฐานว่า เมื่อปี พ.ศ.2432 พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จประพาสหัวเมืองพัทลุง และได้ประทับแรม ณ ชายหาดแห่งนี้


ต่อจากนั้น คณะฯ เดินทางต่อไปยัง วังเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเมืองพัทลุง วังเจ้าเมืองพัทลุง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วังเก่า-วังใหม่” ในอดีตเคยถูกใช้เป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง แต่ในปัจจุบันทายาทตระกูล “จันทโรจวงศ์” ซึ่งเป็นตระกูลของเจ้าเมืองพัทลุงผู้สร้างวังนี้ขึ้นมา ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติ และกรมศิลปากรซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวังเก่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2535 และวังใหม่ เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด “วังเจ้าเมืองพัทลุง” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2536


และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทางคณะฯ ได้รับเกียรติจาก นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้เข้าเยี่ยมคารวะ ณ บริเวณจวนที่พัก ซึ่งท่านได้กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณคณะฯ พร้อมทั้งรับมอบของที่ระลึกจากจังหวัดราชบุรี และร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก


จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดที่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก ที่คณะฯ ยังไม่ได้ไปเยี่ยมชมเนื่องจากมีเวลาจำกัด อาทิ อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ วัดวิหารเบิก ประเพณีข้าวสังหยด พิพิธภัณฑ์พระครูพิทักษ์ชัยเขต เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เปลื้อง อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หมู่เกาะสี่-เกาะห้า แหล่งนกนางแอ่นที่มีคุณค่า รวมทั้งน้ำพุร้อน น้ำตกและถ้ำอีกจำนวนหลายแห่ง จังหวัดพัทลุง เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งขึ้นชื่อได้ว่า เป็นดินแดนของความงดงามแห่งศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ อย่างแท้จริง สมกับคำขวัญของจังหวัดที่ว่า เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน


กาญจนา สิมมา : รายงาน

สุชาต จันทรวงศ์ : เขียนบทและถ่ายภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: