วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

นายอำเภอบางแพสนับสนุนการทำนาในบ่อกุ้ง


ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตำบลโพหักปิดบ่อกุ้ง ปรับพื้นที่ทำนารับกระแสข้าวเปลือกราคาแพง นายอำเภอเข้าติดตามศึกษาข้อดีข้อด้อยของการเปลี่ยนแปลง แนะนำชาวบ้านทำนาแบบผสมผสาน หวังผลสัมฤทธิ์เศรษฐกิจพอเพียง

อำเภอบางแพจังหวัดราชบุรี ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกรามที่โด่งดัง มีผลผลิตส่งออกกุ้งไปตลาดต่างประเทศ และเพื่อการบริโภคภายในประเทศอยู่ในระดับต้น ๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละหลายร้อยล้านบาท สร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละไม่น้อย แต่ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเกิดกระแสความขาดแคลนข้าวในหลายประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติ จนทำให้ผลผลิตข้าวของแต่ละประเทศลดลง เกิดความขาดแคลนต้องนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรชาวนาไทยได้มีโอกาสขายข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้นเป็นประวัติการ จึงเกิดกระแสตอบรับราคาข้าวเปลือกแพงไปทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดราชบุรีโดยเฉพาะที่อำเภอบางแพซึ่งเป็นแหล่งผลิตมีบ่อเลี้ยงกุ้งกรามกามครอบคลุมไปทุกพื้นที่ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก็หันมาปรับสภาพบ่อกุ้ง ใช้พื้นที่บางส่วนทำนาปลูกข้าวแทน ในขณะที่ยังคงสภาพ การเลี้ยงกุ้งเป็นฐานอาชีพเดิม ๆ ซึ่งดำเนินการเป็นคู่ขนานอย่างลงตัว เพียงแต่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นบ้างในการเอานากุ้งมาทำเป็นนาข้าวเพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ดังจะเห็นว่าพื้นที่บ่อกุ้งนั้นลึกและพื้นผิวหน้าดินเสียต้องมีการปรับหน้าดินกันใหม่ นายเจน รัตนพิเชฎฐชัย นายอำเภอบางแพกล่าวว่าขณะนี้ได้ติดตามดูการปลูกข้าวในนากุ้งในเขตตำบลโพหัก โดยเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้พิจารณาถึงผลดีผลเสีย จากการสอบถามพูดคุยเกษตรกรบางรายบอกว่าการทำนาข้าวในบ่อกุ้งมีส่วนดีเนื่องจากมีปุ๋ยที่ตกค้างหลงเหลือจากการให้อาหารกุ้งสะสมเป็นจำนวนมาก เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าวในนา จากข้อมูลที่ได้รับฟังจากเกษตรกรส่วนหนึ่ง อำเภอจึงมีแนวคิดให้คำแนะนำกับเกษตรกรจัดการทำนาแบบผสมผสาน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้คันนาที่เป็นบ่อกุ้งปลูกพืชผักสวนครัว ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงที่กำลังรอผลเพื่อการเก็บเกี่ยวข้าว แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เฝ้าดูว่าการปลูกข้าวในบ่อกุ้งจะได้ผลดีเหมือนที่คาดการหรือไม่


ภาพ/ข่าว ประทีป อยู่แช่ม
22 ต.ค. 51

ไม่มีความคิดเห็น: