วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หมอโรงพยาบาลราชบุรีค้านร่าง พรบ.


หมอรพ.ราชบุรีแต่งดำทุกโรงพยาบาลค้านร่างพรบ.คุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วย

แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ได้พร้อมใจกันแต่งชุดสีดำและถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่จะมีการนำเข้าบรรจุในวาระ 1 เพื่อเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ และต้องการให้ถอดร่างพรบ.ฉบับนี้ออกมาก่อน เพื่อนำมาพิจารณาใหม่ ซึ่งประชาชนที่มาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลต่างก็ให้สนใจว่าทำไมทั้งแพทย์และพยาบาลถึงได้แต่งชุดสีดำทั้งโรงพยาบาลโดยนายแพทย์ยงยุทธ กิตติโชติกุล แพทย์เชี่ยวชาญด้าน หู คอและจมูก และเป็นหัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหารสุขภาพของโรงพยาบาลในจ.ราชบุรี กล่าวถึงร่างพรบ.ฉบับนี้ว่า ถ้าปล่อยให้ให้ร่างพรบ.ฉบับนี้ออกมาจะเกิดความเสียหายทั้งกับผู้ให้บริการและผู้มารับบริการ และถ้าปล่อยให้ผ่านร่างพรบ.ฉบับนี้ไปโดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะยิ่งทำให้การแก้ไขนั้นยุ่งยากมากกว่า

ทางแพทย์และพยาบาลจึงได้ออกมาแต่งชุดดำเพื่อคัดค้าน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับ ร่างพรบ.ฉบับนี้ แต่มีข้อความในบางตอนที่จะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของผู้ให้บริการและผู้มารับบริการด้านนายแพทย์สมบัติ หัสชลีฬหา กุมารแพทย์ของโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นก็มีมากพออยู่แล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับหมอนั้นแย่ลง และพรบ.ฉบับนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยกับจะยิ่งมีปัญหามากกว่าเดิมอีก และตอนนี้หมอทุกคนก็ระวังตัวกันสุดๆ คนไข้ก็จ้องแต่ว่าเมื่อไหร่หมอพลาดก็จะมีช่องให้ฟ้องร้องและจะมีผลประโยชน์เข้ามา ซึ่งโดยสรุปแล้วจะไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ตามที่เขียนไว้ในร่างพรบ.เลย

ส่วนแพทย์หญิงรจนา ภาสกรนิรินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ บอกว่าถ้าปล่อยให้ ร่างพรบ.ฉบับนี้ออกมานั้นในอนาคตคาดว่าจะต้องขาดแคลนแพทย์ เนื่องด้วยงานหนักและเงินเดือนถ้าเทียบกับผู้ที่จบมาในระดับเดียวกันนั้นเงินเดือนน้อยกว่า แต่งานเยอะกว่ามีความรับผิดชอบมากกว่า ต่อไปก็คงจะไม่มีคนเรียนแพทย์ ซึ่งพรบ.ที่จะออกมานั้นควรมีการปรับปรุงให้ความเป็นธรรมกับวิชาชีพและบุคคลากรทางด้านสาธารณสุขให้มากกว่านี้

ด้านนางผ่องพักตร์ ชูศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการทางจักษุ ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ ทั้งหมอและพยาบาลนั้นนอกจากจะต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดแล้ว แต่ปัญหาก็คือคนไข้ยังเยอะอยู่ซึ่งก็ต้องทำการรักษาจนกว่าจะหมด ซึ่งอยากให้ผุ้บริหารนั้นมองเรื่องของอัตรากำลัง ซึ่งทุกวันนี้แพทย์หนึ่งคนตรวจคนไข้กว่า 100 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากเพราะมีโอกาสจะพลาดได้ จึงอยากให้มองว่าความเสี่ยงนั้นไม่ใช่เรื่องของการออกกฎหมายอย่างเดียว

ขอให้พิจารณาเรื่องของการผลิตแพทย์และพยาบาลให้เหมาะสมกับปริมาณคนไข้ ซึ่งจะลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าในอนาคต พรบ.ฉบับนี้ผ่านจะไม่มีใครเรียนแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรอย่างแน่นอน เพราะถ้าไปเรียนในสาขาวิชาชีพอื่น ไม่เหนื่อย ไม่เสี่ยงและได้เงินเดือนมากกว่าแน่นอนและเชื่อว่าต่อไปนี้จะไม่มีใครมาเรียนด้านสาขาการแพทย์อย่างแน่นอน และคนที่เดือดร้อนก็จะเป็นผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการอย่างแน่นอน



ภาพ/ข่าว ภัทรพงศ์ คำเปรม
30/07/53

ไม่มีความคิดเห็น: