วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ราชบุรีเตือนชาวนา ให้ระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล


ราชบุรีเตือนชาวนา ให้ระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดข้าวนาปรัง


จากการติดตามสถานการณ์ การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่กำลังระบาดอยู่ในหลายจังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และพบการระบาดที่จังหวัดราชบุรี ในอำเภอ บางแพ จำนวนพื้นที่ระบาดจำนวน 900 ไร่เศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรีจึงขอประกาศเตือนมายังพี่น้องเกษตรกรที่กำลังจะเพาะปลูกข้าวนาปรังในเดือนมีนาคม 2553 นี้ ให้เตรียมการป้องกันก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะถ้ามีการระบาดแล้วจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลงหรืออาจจะไม่ได้เก็บเกี่ยวเลย
นายรังสรรค์ กองเงิน เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่าจังหวัดราชบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว จำนวน 8 อำเภอ ยกเว้นอำเภอสวนผึ้งและอำเภอบ้านคา คาดว่าฤดูกาลปลูกข้าวนาปรัง ปี 2552/53 นี้ จะมีพื้นที่ปลูกจำนวน 239,970 ไร่ ดังนั้น จึงต้องเตรียมการป้องกันการระบาดดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
เพราะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะเข้าทำลายโดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ต้นข้าวบริเวณกาบใบเหนือระดับน้ำ ถ้ามีจำนวนมากต้นข้าวจะแห้งตายเป็นหย่อม ๆ หากระบาดรุนแรงจะกระจายเป็นวงกว้าง นอกจากทำลายข้าวโดยตรงแล้วยังเป็นพาหะนำโรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ยมาสู่ต้นข้าว ทำให้ผลผลิตลดลงมาก ต้นข้าวจะแสดงอาการเตี้ยแคระแกร็นไม่ออกรวงหรือรวงหดสั้น ใบธงบิดม้วนงอ เกษตรจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวว่า การป้องกันการระบาดจะดีที่สุด
โดยการใช้พันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข 9 กข 23 สุพรรณบุรี 1 พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 90 การใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มากจนเกินไป ทำให้ต้นข้าวไม่หนาแน่นไม่เหมาะกับการระบาด การใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราพอดี ไม่มากเกินไปทำให้ต้นข้าวอวบเพลี้ยกระโดดชอบทำลาย
และการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้แมลงเกิดความต้านทานสารเคมีหรือศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย การเว้นระยะการทำนาเพื่อตัดวงจรการระบาด เกษตรกรต้องสำรวจแปลงนา หากพบการระบาด ให้ระบายน้ำในนาออกให้แห้ง 7-10 วัน เพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมกับการระบาด หรือใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 1 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเช้าหรือเย็น หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีแนะนำให้ใช้สารอิมิดาโคลพลิด (คอนฟิดอร์) 10% เอสแอล อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไอโซโปรคาร์ป (มิพซิน) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร


ภาพ/ข่าว วิทยา เอี่ยมสำอางค์
16/03/53

ไม่มีความคิดเห็น: