วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกษตรราชบุรี รณรงค์ให้เกษตรกรรู้วิธีการจัดการแมลงนูนหลวง


เกษตรราชบุรี รณรงค์ให้เกษตรกรรู้วิธีการจัดการแมลงนูนหลวง


นายรังสรรค์ กองเงิน เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า แมลงนูนหลวงเป็นศัตรูพืชที่สำคัญของพืชหลายชนิดที่กำลังระบาดทำลายพืชผลเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะในเขตอำเภอจอมบึงและอำเภอใกล้เคียง พบว่าได้เข้าทำลายในแปลงปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด มันแกว ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส แมลงนูนหลวงก็เข้าทำลาย ทำความเสียหายได้เช่นเดียวกัน
เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวต่อไปว่า แมลงนูนหลวง เป็นด้วงปีกแข็ง ที่มีขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 15-20 มม. ยาวประมาณ 32-40 มม. ไข่มีสีขาวค่อนข้างกลม คล้ายไข่จิ้งจก เปลือกแข็ง ระยะไข่ 15-28 วัน หนอนมีสีขาวเป็นรูปโค้ง หัวสีน้ำตาลมีขนาดใหญ่และแข็ง มีเขี้ยวใหญ่แข็งแรง หนอนเมื่อโตเต็มที่มีขนาดกว้าง 20-25 มม. ยาว 65-70 มม. หนอนมีอายุ 8-9 เดือน หลังจากนั้นหนอนก็จะเข้าดักแด้ โดยมุดตัวลงในดิน ลึก 30-60 ซม. ระยะดักแด้ประมาณ 2 เดือน จึงออกมาเป็นตัวเต็มวัย
แมลงนูนหลวงมักจะระบาดในพื้นที่ดอนเป็นดินทรายที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำ ความชื้นน้อย ไม่ชอบดินเหนียว โดยตัวหนอนจะเข้ากัดกินรากพืชส่วนที่อยู่ใต้ดิน พืชจะมีอาการคล้ายกับได้รับความแห้งแล้ง อ้อยที่ถูกทำลายจะมีสีเหลืองและค่อย ๆ แห้งตาย จากการติดตามสถานการณ์ของสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึง ศูนย์บริหารศัตรูพืชสุพรรณบุรี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี ได้ออกสำรวจ เมื่อเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2553
พบว่ามีการระบาดในพืชไร่ กระจายเป็นหย่อม ๆ บางจุด จำนวน 6 ตำบล /34 หมู่บ้าน พื้นที่ระบาด จำนวน16,378ไร่ เกษตรจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า วิธีการจัดการแมลงนูนหลวงที่ดีที่สุดคือใช้วิธีผสมผสาน ตั้งแต่เริ่มการเตรียมดิน ต้องไถพรวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายตัวหนอนและดักแด้ ซึ่งจะมีนกคอยช่วยจับตัวหนอนกิน อีกทางหนึ่งด้วย สิ่งที่สำคัญต้องรณรงค์ให้เกษตรกรช่วยกันเก็บตัวเต็มวัยมาทำลายหรือประกอบอาหาร ก่อนที่จะวางไข่โดยใช้กับดักแสงไฟ หรือเขย่าต้นไม้ใกล้แปลงพืชที่ระบาด ตัวเต็มวัยที่จับคู่ผสมพันธุ์ร่วงลงมาก็ให้จับไปทำลาย
หากมีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงก็ควรเป็นวิธีสุดท้าย สารกำจัดแมลงที่ใช้ได้ผลคือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 80-250 มล./น้ำ 20 ลิตร พ่นตามร่องอ้อย สำหรับอ้อยตอให้เปิดหน้าดินออกทั้งสองด้านของแถวอ้อย ห่างจากตออ้อยประมาณ 8 นิ้ว แล้วพ่นสารตามร่อง จากนั้นจึงไถกลบ ควรฉีดพ่นระยะที่หนอนเริ่มฟักออกจากไข่
การใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินก็เป็นวิธีการป้องกันวิธีหนึ่ง การป้องกันกำจัดโดยวิธีผสมผสาน จะช่วยลดการระบาดแมลงนูนหลวงในปีถัดไปได้ ถ้าหากเกษตรกรท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี

ภาพ/ข่าว วิทยา เอี่ยมสำอางค์
03/03/53

ไม่มีความคิดเห็น: