เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรีเตือนผู้ประกอบการเกษตรให้ระวังหนอนใยผัก
นางทองพูน อัยยะวรากูล เกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรีได้รับแจ้งจากนายณรงค์ศักดิ์ โพธิ์ไพฑูรย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้เตือนว่าในช่วงฤดูร้อนนี้ให้ระวัง “หนอนใยผัก” โดยเฉพาะพืชผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหัว และ บรอคโคลี่ มักประสบปัญหาศัตรูพืชระบาดเสมอ
ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับศัตรูพืช ก็จะระบาดรุนแรงโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนจะพบหนอนใยผัก กัดกินใบผัก สร้างความเสียหายรุนแรงมากกับแปลงผักของเกษตรกร หนอนใยผักเจริญเติบโตเต็มวัยจะกลายจะกลาย เป็นผีเสื้อขนาดเล็กสีเทา ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ส่วนหลังมีแถบสีเหลืองส้ม มีอายุ 5-7 วัน เพศเมียวางไข่ได้ประมาณ 37-407 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วันฟักเป็นหนอน ระยะหนอน 8-10 วัน มี 4 วัย ตัวหนอนสีเขียวอ่อนยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร หัว-ท้ายแหลม ลำตัวเรียวยาวส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก เวลาทิ้งตัวลงดินโดยชักใยและจะเข้าดักแด้บริเวณใบพืชโดยมีใยปกคลุม วงจรชีวิต 14-18 วัน
การป้องกันและการกำจัด
1. การใช้กับดักแมลง กับดักแสงไฟจากหลอดสีน้ำเงิน สามารถดึงดูดผีเสื้อหนอนใยได้มากพอสมควร โดยให้ตกลงในถาดรองที่ใส่น้ำผสมผงซักฟอกเพื่อลดแรงตึงผิวน้ำ กับดักกาวเหนียวสีเหลือง ใช้วัสดุสีเหลืองทาด้วยกาวเหนียวดักแมลง อัตรา 80 กับดักต่อไร่ บริเวณเหนือยอดผักกระจายทั่วแปลง
2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน สามารถป้องกันได้ดี แต่ลงทุนสูงและต้องระมัดระวัง ถ้ามีศัตรูพืชเข้าไปได้ จะสร้างความเสียหายเหมือนแปลงผักทั่วไป
3. การใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อบีที (บาซิลลัส ทูริงเยนซิล) สารสะเดา
4. การใช้สารเคมี เมื่อสำรวจพบหนอนเฉลี่ย 2.5 ตัวต่อต้นระยะต้นเล็ก และพบ 5 ตัวต่อต้นระยะต้นใหญ่ การใช้สารเคมีเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สารอาจตกค้างในแปลงพืชและทำลายสภาพแวดล้อม ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น หากมีข้อสงสัยให้สอบถามได้กับเจ้าหน้าที่การเกษตรในพื้นที่
ภาพ/ข่าว วิทยา เอี่ยมสำอางค์
02/04/53
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น